Home



สาระน่ารู้

- นับวันไข่ตก นับอย่างไรกันแน่?
- ปัจจัยการตั้งครรภ์/การมีบุตรยาก/ขั้นตอนการรักษา
- ภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติทำให้ไข่ไม่ตก
- การกระตุ้นการตกไข่
- ผู้ชายที่อยากมีลูกโปรดทราบ
- ความอ้วนและภาวะมีบุตรยาก
- ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการตั้งครรภ์
- การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี
- ตกขาว...อย่าตกใจ
- ห้ายุทธวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลและถูกสุขลักษณะ
- เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
- อาการและการวินิจฉัยการตั้งครรภ์
- เมื่อไรจึงจะเหมาะในการตรวจการตั้งครรภ์
- อาการปวดท้องจากการตกไข่
- อยากมีลูกแต่ไม่อยากไปหาหมอ
- มีเนื้องอกในมดลูก...ตั้งท้องได้ไหม
- สำคัญที่ใจ
- 20 สิ่งวิเศษสุดเมื่อท้อง
- ประจำเดือนขาดนานเท่าไรถึงรู้ว่าตั้งครรภ์
- เรื่องต้องพร้อมก่อนท้อง
- เซ็กซ์แบบไหนได้ลูกสมใจซะที
- อยากมีลูก...ทำยังไงให้ท้อง


 

 

 

 

นับวันไข่ตก นับอย่างไรกันแน่

โดย ธีวรา  พงษ์นิมิตร 
นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการเด็กหลอดแก้ว

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ที่คงมีคำถามเช่นนี้อยู่ในใจ คุณจะทราบได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ไข่จะตก  ต้องมีเพศสัมพันธ์กันช่วงไหน จึงจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงสุด แต่ก่อนจะเริ่มนับวันไข่ตก ลองมาทำความเข้าใจกับประจำเดือนกันก่อนค่ะ

ประจำเดือน เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยปกติรอบเดือนจะมาทุก 28 ± 7 วัน นั่นคือบางคนอาจมีรอบเดือนสั้นทุก 21 วันหรือรอบเดือนยาวสุด 35 วัน ระยะเวลาหลังจากไข่ตกจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนจะค่อนข้างคงที่ที่ 14 ± 2 วัน

ดังนั้นรอบเดือนยาวหรือสั้นจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำให้ไข่เจริญเติบโตพร้อมปฏิสนธิ  คุณควรจดวันแรกที่มีประจำเดือนไว้ทุกครั้ง เพื่อเก็บเป็นข้อมูลในการคาดคะเนวันไข่ตก  วันที่ควรมีเพศสัมพันธ์  หรือช่วยในการคุมกำเนิดได้หากไม่ต้องการมีบุตร

 

ประจำเดือน ถูกควบคุมโดยฮอร์โมน FSH ( Follicle Stimulating Hormone ) และ LH ( Luteinising Hormone ) ซึ่งหลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ในช่วงแรกๆของการมีประจำเดือน  FSH จะหลั่งออกมามาก เพื่อกระตุ้นให้ไข่ และถุงไข่ (  Follicle ) มีการเจริญเติบโต ครั้งแรกๆจะมีไข่โตขึ้นมาหลายฟอง แต่จะมีไข่เพียง 1 ฟองเท่านั้นที่ถูกคัดเลือกให้มีการเจริญเติบโตต่อไป ส่วนฟองที่เหลือจะฝ่อไม่มีการเจริญต่อ

ในขณะที่ไข่เจริญเติบโต ถุงไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (  Estrogen ) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเยื่อบุผนังโพรงมดลูก  ช่วงกลางรอบเดือนใกล้ไข่ตก ต่อมใต้สมองจะหลั่ง LH ออกมาเป็นจำนวนมาก มีหน้าที่ช่วยให้ไข่เจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะปฏิสนธิ ถุงไข่แตกออก ไข่หลุดออกมาจากถุงไข่ ซึ่งเรียกว่า
“ ตกไข่ “ นั่นเอง

ไข่จะถูกจับเข้าไปในท่อนำไข่ และถุงไข่ที่ยังคงเหลืออยู่เรียกว่า คอร์ปัสลูเตียม (  Corpus luteum ) จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (  Progesterone ) เพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน

ไข่ที่ตกมาจะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ หากมีเชื้ออสุจิเข้าไปพบ จะเกิดการปฏิสนธิและแบ่งตัวเป็นตัวอ่อน  ตัวอ่อนจะเดินทางมายังโพรงมดลูกที่เตรียมไว้แล้ว และฝังตัวเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ใช้เวลาเดินทางเข้าโพรงมดลูก 3 วัน ใช้เวลาฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกอีก 3 วัน  คอร์ปัสลูเตียมจะทำงานต่อไป  แต่หากไม่เกิดการปฏิสนธิ คอร์ปัสลูเตียมจะหยุดสร้างฮอร์โมน เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกหลุดออกมาพร้อมเลือดเป็นประจำเดือน

 

การนับรอบเดือน จะนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนรอบถัดไป  ในผู้หญิงที่มีรอบระดูสม่ำเสมอจึงสามารถคำนวณวันตกไข่ได้ โดยจดวันแรกที่มีประจำเดือน แล้วนับย้อนหลังไปอีก 14 วัน นั่นคือวันที่ไข่ตกในรอบเดือนนั้น หรือง่ายๆก็คือ เกิดการตกไข่ 14 วันก่อนที่จะมีประจำเดือน  เช่น รอบเดือน 28 วัน จะตกไข่วันที่ 14 ของรอบเดือน, รอบเดือน 30 วัน จะตกไข่วันที่  16 ของรอบเดือน คนที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอมักจะมีปัญหาเรื่องการตกไข่

ปัจจุบันมีชุดทดสอบการตกไข่ โดยตรวจวัดระดับ LH จากปัสสาวะช่วยให้ทราบวันตกไข่ได้แม่นยำ