Home



สาระน่ารู้

- นับวันไข่ตก นับอย่างไรกันแน่?
- ปัจจัยการตั้งครรภ์/การมีบุตรยาก/ขั้นตอนการรักษา
- ภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติทำให้ไข่ไม่ตก
- การกระตุ้นการตกไข่
- ผู้ชายที่อยากมีลูกโปรดทราบ
- ความอ้วนและภาวะมีบุตรยาก
- ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการตั้งครรภ์
- การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี
- ตกขาว...อย่าตกใจ
- ห้ายุทธวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลและถูกสุขลักษณะ
- เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
- อาการและการวินิจฉัยการตั้งครรภ์
- เมื่อไรจึงจะเหมาะในการตรวจการตั้งครรภ์
- อาการปวดท้องจากการตกไข่
- อยากมีลูกแต่ไม่อยากไปหาหมอ
- มีเนื้องอกในมดลูก...ตั้งท้องได้ไหม
- สำคัญที่ใจ
- 20 สิ่งวิเศษสุดเมื่อท้อง
- ประจำเดือนขาดนานเท่าไรถึงรู้ว่าตั้งครรภ์
- เรื่องต้องพร้อมก่อนท้อง
- เซ็กซ์แบบไหนได้ลูกสมใจซะที
- อยากมีลูก...ทำยังไงให้ท้อง


 

 

 

 

ภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติทำให้ไข่ไม่ตก(Hyper prolactinemia)

โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ปกติ
หญิงวัยเจริญพันธุ์ปกติโดยทั่วไป โดยจะมีการตกไข่จากรังไข่ทุกเดือน ขบวนการกระตุ้นการตกไข่โดยธรรมชาติ เริ่มจากฮอร์โมนของสมองส่วนล่าง (Hypothalamus) ถูกหลั่งมากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้ผลิตฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการกระตุ้นรังไข่ 2 ชนิด คือ FSH (Follicular Stimulating Hormone) และ LH (Lateinizing Hormone) FSH และ LH จะกระตุ้นรังไข่ ทำให้ไข่และถุงไข่เจริญเติบโตพร้อมกับมีการสร้างฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) เพิ่มขึ้นและ “ตกไข่” ในที่สุด

หลังการตกไข่ ถุงไข่เปลี่ยนสภาพเป็นคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) และผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มาทำให้เยื่อบุมดลูกมีความสมบูรณ์เหมาะกับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อนในกรณีที่มีการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีการปฏิสนธิคอร์ปัสลูเตียมจะมีอายุการทำงานประมาณ 2 สัปดาห์ก็ฝ่อลง เยื่อบุมดลูกก็จะสลายตัว หลุดลอกออกมาพร้อมเลือด เป็น “เลือดประจำเดือน”

โปรแลคติน (Prolactin)
เป็นฮอร์โมนผลิตออกมาจากสมองส่วนหน้าเช่นเดียวกับ FSH และ LH มีหน้าที่กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนมเพื่อเลี้ยงทารก ระดับโปรแลคตินจะสูงในสตรีขณะตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตรมันมีอำนาจยับยั้งการหลั่งของ FSH และ LH เมื่อ FSH และ LH ลดลง การกระตุ้นการทำงานของรังไข่ก็ลดลง ทำให้การผลิตฮอร์โมนจากรังไข่ลดลง และไม่ตกไข่

ภาวะโปรแลคตินสูงในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ และไม่ได้ให้นมบุตร จะมีผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่ด้วย มีความรุนแรงต่างกันแล้วแต่ระดับของฮอร์โมนที่ผิดปกติและปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายตั้งแต่มีการตกไข่ปกติ, มีการตกไข่แต่ระดับโปรเจสเตอโรนต่ำ, การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่เลย ทำให้บางครั้งประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือน

สาเหตุ
สาเหตุของภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติมีหลายอย่าง อาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนล่างหรือเนื้องอกของต่อมใต้สมองเอง โรคของต่อมธัยรอยด์ หรือความเครียดของประสาท, การถูกกระตุ้นบริเวณเต้านมหรือหัวนม, การถูกรบกวนหรือเส้นประสาทบริเวณทรวงอก การรับประทานยาบางอย่างโดยเฉพาะยาระงับประสาทและยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือ ยารักษาโรคกระเพาะอาหารบางอย่าง

อาการ
อาการของภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติ ก็มักเป็นอาการของการทำงานของรังไข่ผิดปกติ เช่น มีบุตรยาก, แท้งบ่อย, ประจำเดือนมาผิดปกติ, ไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือนอาจมีอาการปากช่องคลอดและช่องคลอดแห้งบาง, เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์, ความรู้สึกทางเพศลดลง กระดูกพรุน ถ้ามีเนื้องอกของต่อมใต้สมองก็อาจมีอาการปวดศีรษะ ลานสายตาหรือการมองเห็นภาพผิดปกติ บางรายก็พบว่ามีน้ำนมไหล ทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือไม่ได้มีลูกอ่อนที่กำลังให้นมแม่ ในผู้ชายอาจมีภาวะโปรแลคตินสูงด้วยเหมือนกันทำให้มีปัญหาเชื้ออสุจิผิดปกติ และความรู้สึกทางเพศลดลงได้

การรักษา
ภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติที่ทราบสาเหตุ เช่น ความเครียด หรือได้ยาระงับประสาท ฯลฯ จะกลับเป็นปกติได้ถ้าขจัดสาเหตุ พวกที่ไม่ทราบสาเหตุหรือมีเนื้องอกต่อมใต้สมองขนาดเล็กไม่เกิน 1 ซ.ม. สามารถรักษาได้ด้วยยาลดการหลั่งโปรแลคติน (bromocriptine) แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาในขนาดที่พอเหมาะโดยมีการตรวจหาระดับโปรแลคตินในเลือดเป็นระยะ ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะตั้งครรภ์ หรือให้เป็นระยะเวลายาวนาน ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องให้ยานานเท่าไร เพราะเรารู้จักและรักษาภาวะผิดปกตินี้ได้ยังไม่นานพอ และไม่พบว่ายานี้มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่แพทย์บางคนอาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดยาเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ในคนที่มีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง เมื่อได้ยาเนื้องอกลดขนาดลงได้แต่อาจโตขึ้นมาอีกเมื่องดยา ผลข้างเคียงของยาคือคลื่นไส้อาเจียนเวียนศีรษะปวดศีรษะ หน้ามืดเมื่อลุกขึ้นเร็วๆ ผู้ป่วยมักทนยาไม่ค่อยได้ แพทย์จะเริ่มให้ยาคราวละขนาดน้อยๆก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มขนาดเมื่อคนไข้คุ้นกับยา

มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเฉพาะในรายที่เนื้องอกต่อมใต้สมองโตกว่า 1 ซ.ม. หรือโตจนไปกดเส้นประสาทตาหรือสมองส่วนอื่น หรือมีขนาดของเนื้องอกโตขึ้นขณะให้การรักษาด้วยยา